มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษยกฐานะมาจาก “สถาบันราชภัฏ” ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2540 บนที่ดินสาธารณประโยชน์โนนบักบ้า ตำบลโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ มีเนื้อที่ประมาณ 535 ไร่ 2 งาน 32 ตารางวา ในเขตเทศบาลเมืองศรีสะเกษ เป็น 1 ใน 5 โครงการจัดตั้งสถาบันราชภัฏเพิ่มในระยะแรกของสำนักงานสถาบันราชภัฏ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
ในปี พ.ศ. 2547 สถาบันราชภัฏศรีสะเกษได้ยกฐานะเป็น “มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ” และเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 โดยมีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นส่วนราชการตามกฎหมาย ว่าด้วยวิธีการงบประมาณ ในสำนักงานงบประมาณคณะกรรมการการอุดมศึกษา ในปี พ.ศ. 2548 มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ได้เปิดหลักสูตรสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ รุ่นที่ 1 โดยเปิดทำการเรียนการสอนในปีการศึกษา 1/2548 เป็นต้นมา ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวสังกัดภาควิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2549 มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ได้เปิดหลักสูตรสาขาวิชานิติศาสตร์ รุ่นที่ 1 โดยเปิดทำการเรียนการสอนในปีการศึกษา 1/2549 เป็นต้นมา ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวสังกัดภาควิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ และวิทยาศาสตร์
ในปี พ.ศ. 2556 มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ได้เปิดหลักสูตรสาขาวิชารัฐศาสตร์ รุ่นที่ 1 โดยเปิดทำการเรียนการสอนในปีการศึกษา 1/2556 เป็นต้นมา ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวสังกัดภาควิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ และวิทยาศาสตร์
สืบเนื่องจากสภามหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ มีมติเห็นชอบให้จัดตั้งส่วนงานภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ระดับคณะหรือเทียบเท่าคณะ ทำให้สภามหาวิทยาลัยฯ ได้ออกประกาศมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ เรื่อง การจัดตั้งส่วนงานภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ลงวันที่ 21 กันยายน 2556 ขึ้น ทำให้เกิดการแบ่งส่วนงานภายในออกเป็น 5 คณะ ซึ่งวิทยาลัยกฎหมายและการปกครองเป็นหนึ่งในนั้น โดยมีการจัดการเรียนการสอน
3 หลักสูตร 3 สาขาวิชา ได้แก่
1. หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์และสาขาวิชาการปกครองท้องถิ่น
2. หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานิติศาสตร์
3. หลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารัฐศาสตร์ ซึ่งมีสำนักงานคณบดีวิทยาลัยกฎหมายและการปกครอง ตั้งอยู่ ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ
พันธกิจวิทยาลัยกฎหมายฯ
พันธกิจที่ 1
ผลิตนักกฎหมาย
นักปกครอง
และนักบริหาร
เพื่อตอบสนองต่อการพัฒนาท้องถิ่น
พันธกิจที่ 2
วิจัย
สร้างองค์ความรู้
และนวัตกรรม
เพื่อพัฒนาท้องถิ่น
พันธกิจที่ 3
บริการวิชาการเพื่อ
ลดความเหลื่อมล้ำ
และสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน
สามารถพึ่งพาตนเอง
ได้อย่างยั่งยืน
พันธกิจที่ 4
ส่งเสริม อนุรักษ์
สืบสานศิลปวัฒนธรรม
และภูมิปัญญา
ท้องถิ่น
พันธกิจที่ 5
บริหารจัดการองค์กร
ตามหลักการปกครองสาธารณะ
แนวใหม่เพื่อให้มี
ประสิทธิภาพ